“เรื่องราวคือระยะห่างที่สั้นที่สุดระหว่างผู้คน”
นครรัฐวาติกัน – ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารกว่าหมื่นคน ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ไปจนถึงประธานกรรมการบริหาร (CEOs) จากทั่วโลก ได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิดงานปีศักดิ์สิทธิ์เพื่อการสื่อสาร ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญแรกในปียูบีลี 2025 ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อโลกแห่งการสื่อสาร โดยจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันศุกร์ที่ 24 ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2025
การเฉลิมฉลองการสื่อสาร (Celebrating communication)
งานเริ่มต้นด้วยพิธีสำนึกผิด ณ พระมหาวิหารนักบุญยอห์นแห่งลาเตรัน ในโอกาสฉลองนักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ องค์อุปถัมภ์ของนักข่าวและนักเขียน จากนั้นในเช้าวันเสาร์ที่ 25 มกราคม มีการแสวงบุญไปยังประตูศักดิ์สิทธิ์ของพระมหาวิหารนักบุญเปโตร และการเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาฟรังซิส ปิดท้ายในวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม ด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณโอกาสวันอาทิตย์พระวาจาของพระเจ้า โดยมีพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเป็นประธานในพิธี
สมณมนตรีประจำสมณสภาเพื่อการสื่อสาร (Dicastery for Communication) ได้อธิบายว่า การเริ่มต้นปีศักดิ์สิทธิ์แห่งความหวังครั้งนี้ไม่ใช่เพียงภาพลวงตาหรือสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่เป็น “แรงผลักดันที่กระตุ้นให้เราแต่ละคนเชื่อว่า สิ่งที่เราสื่อสารไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ทั้งการเขียน คำพูด หรือรูปภาพ จะเดินทางไปถึงจุดหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่อ่าน ผู้ฟัง และผู้ชม”
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงตรัสถึงความสำคัญของการสื่อสารที่ดีและการแบ่งปันข้อความแห่งความหวังอยู่เสมอ พระองค์ทรงสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมองพันธกิจของตนใน 3 ประการ คือ การทำให้ผู้คนเหงาน้อยลง (to make people less lonely) การให้เสียงแก่ผู้ที่ไม่มีเสียง (give voice to the voiceless) และการฝึกฝนตนเองให้สื่อสารตามความเป็นจริง (educate themselves to communicate truthfully)
การเล่าเรื่องเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย (Storytelling is fundamental to democracy)
ในพิธีเปิดงาน สมณสภาเพื่อการสื่อสารได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านมาแบ่งปันมุมมองและแนวคิด ได้แก่ โคลัม แมคแคนน์ นักเขียนผลงานมากมายและผู้ร่วมก่อตั้ง “Narrative 4” องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับโลกที่ใช้การเล่าเรื่องเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง และมาเรีย เรสซา ประธานกรรมการบริหาร Rappler สื่อดิจิทัลอิสระชั้นนำของฟิลิปปินส์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและนักสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก
แมคแคนน์กล่าวถึงความสำคัญของงานปีศักดิ์สิทธิ์เพื่อการสื่อสารว่า การเล่าเรื่องทำให้ผู้คนมารวมตัวกัน “ระยะห่างที่สั้นที่สุดระหว่างบุคคลใดๆ คือเรื่องราว ดังนั้นความสามารถในการเล่าเรื่องของเราและความสามารถในการรับฟังเรื่องราวของผู้อื่น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตัวตนของเราและวิถีทางที่เราจะก้าวเดินต่อไป”
เขาอธิบายว่า การที่งานปีศักดิ์สิทธิ์นี้รวบรวมผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพและภูมิหลัง แสดงให้เห็นว่าผู้คนไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อเหมือนกันจึงจะแบ่งปันเรื่องราวร่วมกันได้ และ “ความสามารถในการเข้าใจเรื่องราวของผู้อื่น” นั้นเป็น “รากฐานของแนวคิดประชาธิปไตยและการเป็นเจ้าของ”
อินฟลูเอนเซอร์และนักข่าวมีบทบาทในการสื่อสาร
เรสซาเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของแมคแคนน์เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการสื่อสาร เธอเล่าว่าเหตุผลที่เธอเข้าร่วมงานปีศักดิ์สิทธิ์นี้คือ การได้พบปะพูดคุยกับ “ผู้คนจริงๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่แบ่งปันค่านิยมเดียวกันกับเรา”
ในโลกที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง เรสซาชี้ให้เห็นว่าทั้ง อินฟลูเอนเซอร์ ในโซเชียลมีเดียและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชนต่างมีบทบาทในการเป็นแหล่งของการสื่อสาร โดยนักข่าวควร “ดำเนินงานภายใต้มาตรฐานและจริยธรรม” ในขณะที่ผู้มีอิทธิพลมีความเชี่ยวชาญในการปรับเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลให้เหมาะสมกับผู้ชมที่หลากหลาย
เขาอธิบายว่า การนำผู้คนจากทุกสาขาอาชีพและภูมิหลังมาร่วมงานปีศักดิ์สิทธิ์นี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องแบ่งปันความเชื่อแบบเดียวกันเพื่อแบ่งปันเรื่องราว “ความสามารถในการเข้าใจเรื่องราวของคนอื่น” ที่เป็น “พื้นฐานของแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตย และการเป็นเจ้าของ”
แปล: Jubilee2025 ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งความหวัง
เรียบเรียง: jubilee2025th.com